วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พิธีเข้ากั๋ม(เข้ากรรม)

ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างธาตุ(เจดีย์) วัดชลประทาน (หัวฝาย) ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  เนื่องจากวัดนี้ยังไม่มีพระธาตุเหมือนวัดอื่น ซึ่งวัดของเชียงใหม่บางแห่ง แต่อดีตก็ไม่มีพระธาตุในวัด อย่างที่หมู่บ้านข้าพเจ้าก็เพิ่งมีพระธาตุได้ไม่กี่ปี(พระธาตุศรีห้วยทราย)  ข้าพเจ้าคิดว่าวัดที่ไม่มีเจดีย์ก็เหมือนเป็นวัดที่ไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนสาธุชนทุกท่าน ร่วมทำบุญสร้างเจดีย์ให้สมกับเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสในการจัดพิธีเข้ากรรมปริวาสครั้งใหญ่นี้เพื่อหาทุนในการสร้างพระเจดีย์สืบไป ซึ่งมีพระเถระหลายรูปเดินทางมาร่วมพิธีโดยมิได้นิมนต์มา 


พิธีเข้ากั๋ม(เข้ากรรม)
มี 2 แบบคือ มคฺวาส และ ปริวาส โดยจัดช่วงเดือน 3-4 เหนือ จัดประจำปีบริเวณป่าช้าของหมู่บ้านเพื่อปลดปล่อยวิญญาณที่ไม่มีที่ไป ไม่ได้ผุดได้เกิด  พระสงฆ์หลายรูปจะสร้างเพิงไม้เล็กๆ เพื่อจำวัดในป่าช้าและสวดตอนกลางคืนติดต่อกันหลายวัน สำหรับบ้านข้าพเจ้าหมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้านจะรวมตัวกันประมาณ สิบหมู่บ้านแล้วเวียนถัดไปจัดแต่ละหมู่บ้านเวียนกันทุกๆ ปี จัดตั้งแต่ 3-7 วัน โดยพระสงฆ์จะต้องจำพรรษาที่ป่าช้าและสวดให้สรรพสัตว์ในตอนกลางคืน  แต่สำหรับปีนี้พิเศษกว่าทุกปีเพราะจัดแบบปริวาสเนื่องจาก วัดชลประทาน(หัวฝาย) เคยเป็นวัดร้าง บริเวณเนินที่สร้างวิหารปัจจุบันเคยมีฐานอยู่ ส่วนเจดีย์ก็ไม่หลือซากแล้ว ปัจจุบันวัดนี้จึงไม่มีเจดีย์ เหมือนกับวัดของหมู่บ้านข้าพเจ้าก็เพิ่งสร้างเจดีย์ไม่กี่ปีนี้เอง พ่อเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่พ่อเกิดมาก็ไม่มีวิหาร ดังนั้นวิหารที่สร้างจึงสร้างขึ้นใหม่ไม่กี่ปีมานี้  เดิมวัดก็ไม่มีเจดีย์เลย อย่างไรก็ตามวัดหัวฝายชาวบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่าวัดเป็นวัดร้างผีกั่น (ผีดุ) เพราะมีคนมาตายช่วงสงครามโลกบริเวณนี้มาก ผีเก่าเน่าเมิน(เมิน=เก่า) หรือผีที่ตายและสิงสถิตอยู่บริเวณนี้มานานไม่ได้ไปผุดไปเกิดจึงเข้านิมิตหลวงพ่อให้ช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณที่ได้รับความทรมานเฝ้าวัดร้างแห่งนี้  ท่านจึงจัดเข้ากรรมปริวาสขึ้นในปีนี้ กว่าข้าพเจ้าจะไปร่วมทำบุญบริเวณงาน ก็เขาเริ่มไปแล้ว 4-5 วันแล้ว แต่ทุกวันก็จะมีพิธีดังนี้  ตอนเช้าชาวบ้านไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และเข้าพิธีสืบชะตาหลวงบนวิหาร พอเสร็จก็ลงมาฟังธรรมเทศนา นั่งสมาธิ และตักบาตรข้าวสาร เสร็จก็เดินทางกลับบ้าน ตอนดึกพระก็จะสวดอีก เข้ากรรมปริวาสจะจัดถึง 9 วัน เชื่อกันว่าใครไปสืบชะตาหลวง 3 วันขึ้นไปก็จะโชคดี เพราะในงานมีพระเถระหลายรูป วันนี้ข้าพเจ้าไป มีถึง 74 รูป ดังนั้นพิธีสืบชะตาหลวงจึงศักดิ์สิทธิ์มากได้ยินว่าปีนี้มีไม่กี่วัดที่จัดสืบชะตาหลวง เท่าที่เห็นพิธีก็จะมีการเอาไม้เหลาเกลี้ยงๆ สุมกันเป็นรูปกระโจม มีพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง โยงสายด้ายจากซุ้มนั้นไปที่บริเวณด้ายสานไว้ทั่วเพดานเหนือหัวขึ้นไปนิดหน่อย โยงและสานกันเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใช้สายด้ายห้อยย้อยลงมาแล้วพับเป็นขมวดห้อยไว้ให้ชาวบ้านแกะออกมาวางบนหัวเวลาพระสวด พอพิธีเสร็จก็ดึงด้ายศักดิ์สิทธ์นั้นไปมัดข้อมือ เพื่อให้โชคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น