วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาษาเมืองวันละคำ

        อันภาษาเหนือ หรือชาวเหนือทั่วไปเรียกว่า "กำเมือง" มีประวัติความเป็นมายาวนานพอๆ กับการตั้งราชอาณาจักรล้านนา เรามีอักษรเขียนของตัวเอง แต่ว่าคนส่วนใหญ่จะใช้ไม่เป็น(รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) เนื่องจากทางโรงเรียนของรัฐบาลกำหนดให้เรียนภาษากลางซึ่งเราใช้กันอยู่เป็นปัจจุบัน ส่วนภาษาเหนือของเรานั้นเราใช้เป็นภาษาทางเลือก ซึ่งจะเลือกเรียนเฉพาะผู้ทีสนใจ และในวงพระภิกษุสงฆ์ โดยคาถาโบราณ ตลอดจนเอกสารการบันทึกเรื่องราวต่างๆ จะบันทึกเป็นภาษาเหนือทั้งสิ้น เท่าที่้เห็นในบ้านเมืองข้าพเจ้าตอนนี้ ยังมีการอนุรักษ์การเขียนภาษาเหนือโดยบางวัดและสถานศึกษาเขียนป้ายเป็นภาษาเหนือควบคู่กับภาษากลางและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจและมีความสุขมากถึงแม้ว่าจะอ่านไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าผู้คนยังไม่ทอดทิ้งรากฐานภาษาของตน
          
         แต่ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงที่สุดเห็นจะเป็นภาษาพูดและสำนวนกำเมืองโบราณ ซึ่งถึงแม้ว่าจะคล้ายกันแต่ว่าแต่ละท้องถิ่นอาจเพี้ยนจากกันไปบ้านเล็กน้อย  กระนั้นก็น่าจะหายไปพร้อมกับค่านิืยมของคนเมืองสม้ยใหม่ที่ชอบให้เด็กพูดภาษากลาง  จะเห็นได้จากหลานของข้าพเจ้า 2 คนพูดกำเมืองไม่ได้เลย เพราะพี่ชายพี่สะใภ้ไม่สอนให้พูดภาษาเหนือ  อ้างว่ากลัวเด็กจะเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนที่พูดภาษากลางไม่ได้ พูดภาษากลางไม่เป็น!!!! แต่ส่วนตัวของข้าพเจ้า  บิดามารดาก็ไม่ไ้ด้สอนให้พูดภาษากลางเลย ไปเป็นเอาที่โรงเรียน  ปัจจุบันนี้ก็พูดภาษากลางสำเนียงภาษากลางได้ แถมเหมือนซะจนบางครั้งคนภาคกลางเองยังเข้าใจว่าเป็นคนภาคกลางด้วยกัน  ข้าพเจ้าจึงว่าไม่เกี่ยว  เพราะว่าโทรทัศน์ วิทยุ ก็พูดภาษากลางกันทั้งนั้น เด็กได้ยินมากกว่าภาษาเหนือซะอีกถ้าพ่อแม่ไม่พูดเหนือถูกคงพูดภาษาเหนือไม่ได้ซะที
     
        วันหนึ่งข้าพเจ้าเปิดเว็บ youtube เพื่อจะฟังเพลงกำเมือง เพลงอุ้ยคำ คนที่ฟังเป็นก็คงเป็นคนเหนือกันทั้งนั้น มีอยู่คนหนึ่งไปโพสแสดงความคิดเห็นว่า เพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง! จึงเป็นเหตุให้โดนด่ากันซะเละ ไม่รู้จะสมน้ำหน้าหรือน่าเห็นใจดี  ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่่าไม่รู้ย่อมไม่ผิด  แต่บางครั้งเราฟังเพลงที่เพราะแต่ไม่รู้ความหมายก็ยังรู้สึกซาบซึ้งกับท่วงทำนองและเสียงร้องที่เพราะพริ้งได้ถ้าหากเราเปิดรับฟังด้วยใจที่เป็นธรรม  

            ด้วยค่านิยมของคนเหนือในปัจจุบันที่ไม่รักภาษาของตัว  และความเห็นใจคนภาคอื่นที่อยากจะฟังคนเหนือคุยกันให้รู้เรื่อง ข้าพเจ้าจึงอยากจะทำข้อความและบทความเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาเหนือซึ่งเป็นภาษาเกิดที่ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิในและรักภาษาเกิดเหลือเกิน  และข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีความรู้น้อยแถมขี้ลืม พอพบเห็นได้ฟังภาษาเหนือสำนวนแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินจากคนบ่าเก่า(คนแก่และผู้สูงอายุ) ก็อยากจะบันทึกไว้ไม่ให้สูญหา เพราะหากไม่บันทึกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ซักวันก็คงจะสุญหายไปหมด ช่วยๆ กันกับผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังละกันนะคะ 





แวะชมเนื้อหาในเว็บซิคะ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น