วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตำรวจไทย


ในฐานะของตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งชีวิตของข้าพเจ้าผูกพันกับตำรวจค่อนข้างมากเนื่องจากน้าและพี่ชายแท้ๆ เป็นตำรวจเช่นกัน  ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็น บอกเล่าประสบการณ์ เกี่ยวกับตำรวจ ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ แทนพี่น้องตำรวจด้วยกัน 
ทำไมตำรวจจึงถูกประชาชนเกลียดนักข้าพเจ้าเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจนัก ที่ทั้งที่เวลาเดือดร้อนก็จะคิดถึงตำรวจเป็นคนแรก  ฝนตกรถติด ไฟไหม้ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คนตีกัน คนจะออกลูก ขนาดงูเข้าบ้านก็ยังโทรเรียกตำรวจมาจัดการ คิดดูแล้วกัน  แต่ข้าราชการอื่น เช่น พวกครู ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนแต่ก็ยังได้รับความรักความเคารพ(ครูบางคนยังหาลำไพ่จากการสอนพิเศษได้อีก) แต่พวกเราบางคนทำงานเหน็ดเหนื่อยเสี่ยงตาย พวกท่านยังเกลียดแล้วมันน่าน้อยใจอีกไหมล่ะ
 อาจเป็นเพราะตำรวจทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าอาชีพอื่น ใกล้ในฐานะผู้ควบคุมและรักษากฎ   ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์ ใครๆ ก็ไม่ชอบถูกควบคุม โดยเฉพาะควบคุมในรูปแบบของการจ่ายค่าปรับถ้าทำผิดกฎ  ทั้งที่การควบคุมทุกอย่างล้วนมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของท่านทั้งนั้น  เช่น  ที่บังคับให้ท่านคาดเข็มขัดนิรภัย หรือ สวมหมวกกันน็อค ถ้าไม่ทำตามก็จะถูกปรับนั้นหากท่านไม่ทำตาม  โอกาสที่ท่านจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นมีมากยิ่งขึ้น  แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้าใจคิดว่าตำรวจขูดรีดเงิน  ตำรวจบางคนทำงานเสี่ยงตาย เช่น ตำรวจจราจรอาจทุกรถชนได้ทุกเมื่อ ข้าพเจ้าเคยเห็นเพื่อนตำรวจด้วยกันถูกรถชนจนพิการต้องใส่ขาเทียมมาจนปัจจุบันนี้  แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเห็นใจเท่าใดนักเนื่องจากท่านจะต้องเสียเงินค่าปรับถ้าทำผิดกฏก็เลยพลอยเกลียดตำรวจไม่ว่าตำรวจจะทำดีแค่ใหนก็ตาม 
จริงอยู่ที่บางครั้งพวกเราบางคนอาจสับสนไปบ้างระหว่างบทบาทของผู้รักษากฎกับบทบาทของเจ้าของกฎ  ตำรวจบางคน(ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นกันทั้งหมดรวมทั้งข้าราชการหรือพนักงานที่สับสนระหว่างบทบาทของอำนาจหน้าที่ และการบริการประชาชน)  ข้าพเจ้าเองก็เคยเป็นสมัยที่เคยทำงานใกล้ชิดประชาชน  จนอาจส่งผลให้ขัดเคืองประชาชนไปบ้าง  อย่างเมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ได้ไปจอดรถหน้าห้าง ยามได้ออกมาบอกว่าจอดบริเวณนั้นไม่ได้  ข้าพเจ้ากำลังจะถอยรถไปจอดที่อื่นแต่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าคนอื่นอาจเข้าใจผิดแบบข้าพเจ้าเนื่องจากทางห้างไม่ได้ติดป้ายไว้  ข้าพเจ้าเลยลดกระจกตะโกนไปบอกยามว่า ควรติดป้ายบอกว่าห้ามจอดด้วย  ยามคนดังกล่าวแสดงความไม่พอใจ ตวาดข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ และวิทยุไปเรียกหัวหน้ายาม(หลังจากที่ลังเลมาตั้งแต่แรกว่าจะเรียกหัวหน้าดีใหมเพราะข้าพเจ้าไม่ยอมเนื่องจากเห็นอีกข้างของห้างยังจอดได้!)  จากที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะถอยรถออกก็เปลี่ยนใจเป็นจอดรถและเดินเข้าไปแจ้งผู้จัดการข้างในห้าง (อย่ามองว่าข้าพเจ้าเรื่องมากแต่ข้าพเจ้าไม่ชอบเห็นอะไรที่มันไม่เป็นธรรม) นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่เรามักสับสนระหว่างอำนาจการรักษากฎและการบริการประชาชน  หากใจเย็นๆ ค่อยๆ อธิบายด้วยความสุภาพและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เหตุการณ์ก็ไม่เป็นเช่นนั้น  เนื่องจากยามยังเด็กจึงตีหน้ายักษ์ข้าพเจ้ามาคิดถึงตัวเองสมัยทำงานใกล้ชิดประชาชน และกระทบกระทั่งด้วยสาเหตุใกล้เคียงกัน คือ ทำงานหนักทั้งวัน ไม่ได้รีแลกซ์  จึงไม่อยากรับฟังอะไรทั้งสิ้น พบเห็นใครทำผิดก็ทำตามกฎไม่อธิบายเขาไม่รับฟังเขา  ทำให้ลืมบทบาทของการบริการประชาชนไป สรุปก็คือทำงานในภาวะที่กดดันมากเกินไป

พี่ชายของข้าพเจ้าได้เล่าชีวิตของตำรวจตระเวนชายแดนให้ฟังว่า ต้องถือปืนลาดตระเวนทั้งที่ฝนตกแดดออกแถมเสี่ยงอันตรายจากกับระเบิด เพื่อรักษาอาณาเขตของประเทศเราไว้  เรื่องวันหยุด  พวกเขาต้องเสียสละทำงานในวันหยุดราชการ ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านช่วงวันปีใหม่เหมือนข้าราชการอื่น  เช่นปีใหม่ มีอุบัติเหตุมาก แถมชาวบ้านหยุดงานกลับต่างจังหวัดส่วนตำรวจไม่ต้องพูดถึงเพราะต้องคอยดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ ส่วนพี่ชายข้าพเจ้าต้องอยู่ดูแลรักษาพื้นที่เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงน้ำแห้งข้ามไปมาสะดวกจึงเกิดสงครามระหว่างดินแดนในจังหวัดตาก ข้าพเจ้าเอง  ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็เครียดมากเช่นกันเพราะช่วงนั้นวันหยุดยาวผู้โดยสารจะมากกว่าปกติ กลับบ้านยาวๆ ก็ไม่เคยได้เพราะต้องรีบมาเข้าเวร บางปีมีการจัดเวรเสริมก็ต้องทำงานเพิ่มอีกจากที่ได้พัก  ทานข้าวก็ต้องรีบทาน(ไม่เกินคนละ30นาที)  เนื่องจากต้องเปลี่ยนเพื่อนไปทานเพราะผู้โดยสารมากลุกจากเคาน์เตอร์ไม่ได้ บางครั้งปวดเข้าห้องน้ำต้องทนไว้เนื่องจากไม่มีคนเปลี่ยน ที่สนามบินดอนเมืองเพื่อนตำรวจ ตม.บางคนตายคาเคาน์เตอร์ก็ยังมี(ยังหลอนไปตั้งหลายวันแกชอบนอนตรงบันไดทางเดินเพราะเตียงในห้องพักเต็ม)  เนื่องจากตำรวจต้องทำงานในภาวะที่กดดันมากหลายๆ เรื่องและพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตมาก ตำรวจจึงป่วยสารพัดโรครวมทั้งโรคเกี่ยวกับจิตและประสาท  เนื่องจากพวกเราต้องทำงานในภาวะที่กดดันท่านคงจะเคยเห็นข่าวตำรวจยิงกันบ่อยครั้ง(ทั้งระหว่างตำรวจและประชาชน)  เนื่องจากไม่ค่อยมีใครสนใจดูแลเรื่องสุขภาพจิตของพวกเราเท่าไรนัก 
                เรื่องที่กดดันตำรวจมีอยู่หลายเรื่องนอกจากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ยังมีเรื่องเงินเดือนอีกที่พวกเราได้น้อยกว่าใครเพื่อนถ้าเปรียบเทียบในหมู่ข้าราชการด้วยกันทั้งที่พวกเราทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแถมโดนประชาชนเกลียดมากกว่า(น้อยใจ) และไอ้ความเหลื่อมล้ำและขาดการเหลียวแลนี่กระมังทำให้พวกเราบางคนต้องไปหาเศษหาเลยเอานอกระบบ(แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เศษไม่ได้เลยเพราะไม่มีครอบครัวจึงไม่มีภาระอะไร)  ก็น่าเห็นใจเพื่อนตำรวจด้วยกัน  เครื่องแบบก็ต้องตัดเอง จ่ายเงินเองทั้งหมด (ถึงหลวงจะแจกผ้าให้ตัดชุดก็ไม่ได้แจกทุกปี และไอ้ที่แจกน่ะ เอามาตัดได้ซะที่ใหนแข็งยังกะอะไรถ้าจราจรเอาไปตัดใส่แล้วคงร้อนกะคันพิลึกถ้าใส่ไปยืนบกรถริมถนน) แล้วไอ้ค่าตัดชุดๆ หนึ่งน่ะ ต้องออกเองนะพระคุณท่าน เครื่องแบบชุดหนึ่งตัดกันตั้งพันสองพัน ส่วนเพื่อนตม.ต้องตั้ดเรื่องแบบชุดละไม่ต่ำกว่า 4 พันและเงินเหล่านี้พวกเราออกเองทั้งนั้นเครื่องแบบน่ะมีชุดเดียวไม่ได้เพราะพวกเราทำงานกันอาทิตย์ละ5 วัน เพื่อนตำรวจบางคนทำงานอาทิตย์ละมากกว่า 5 วัน แถมบางวันโดนสั่งทำงานนอกเวลาราชการอีก ข้าพเจ้าเองก็เคยเข้าเวร 24 ชม.มาแล้ว  จริงอยู่หลวงเคยออกค่าตัดชุดให้พวกเราครั้งหนึ่ง แต่เจ้าพระคุณท่าน พวกเราไม่ได้ทำงานอาทิตย์ละวันนะ ไม่ทราบว่าท่านเคยสังเกตใหมว่าชุดน่ะ ตัดต่างที่กัน ผ้าก็เลยต่างสีกัน จะหาอะไรที่เป็นมาตรฐานให้มันดูดีกว่านี้ได้ไหม เช่น หาหาระบบการดูแลเสื้อผ้าให้พวกเราหาร้านที่ตัดให้ตำรวจโดยเฉพาะคนละ 3 ชุด สามปีให้เปลี่ยนชุดและตัดใหม่ เป็นต้น   
                นี่ขนาดแค่เรื่องเสื้อผ้านะ เพราะค่าตัดเครื่องแบบแพงหูฉี่ แต่เงินเดือนตำรวจนิดเดียว(น้อยกว่าข้าราชการอื่น) นี่ยังไม่นับค่าเลี้ยงดูลูกเมียอีกนะ  ค่ากินค่าอยู่ อาหารเช้าอาหารกลางวัน ค่าภาษีสังคม(ตำรวจเป็นที่รู้จักเพราะทำงานใกล้ชิดประชาชนเลยมี ซองผ้าป่า งานบุญ งานแต่งเต็มไปหมด )  แถมโบนัส อะไรก็ไม่ค่อยได้เยอะแบบใครเขา (โบนัสเฉลี่ยให้นายระดับสูงแล้วเหลือถึงระดับล่างแค่พอซื้อมาม่ากินหนึ่งเดือน)  เมื่อเทียบกับโบนัสของ ข้าราชการ อบต. แล้วมันไกลกันคนละประเทศเลยแทบคิดไม่ถึงว่าทำงานอยู่ประเทศเดียวกัน ทำงานเป็นข้าราชการเหมือนกันนะเนี่ย แถม อบต.น่ะมีโอกาส ดูงานที่นั่นที่นี่ ได้รีแลกซ์คลายเครียด ขนาด อสม.หมู่บ้านยังได้เหมารถทัวร์ไปดูงานที่โน่นที่นี่เลย  ส่วนตำรวจน่ะเหรอ อะไรแบบนี้ไม่มีหรอก ถ้าจะมีก็นายระดับสูงเท่านั้นที่มีโอกาสไปรีแลกซ์ดูงาน เปิดหูเปิดตาที่อื่นบ้าง  ส่วนชั้นผู้น้อยน่ะเหรอเขาให้ดูงานในกะลา  เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพเจ้าในฐานะที่เคยเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยกะเขาเหมือนกัน(ปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าตัวเองตำรวจชั้นผู้น้อยเพราะเป็นสัญญาบัตรชั้นผู้น้อยและต่อไปคงไม่มีตำรวจชั้นประทวนแล้วเพราะสอบเป็นชั้นสัญญาบัตรได้หมด) ที่แย่ที่สุดก็คือตำรวจบางคนบรรจุนอกภูมิลำเนา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะอธิบายยังไงท่านก็คงไม่เข้าใจถ้าท่านอยู่บ้านของตัวเอง 
                ทุกเรื่องที่กล่าวมาอาจเป็นภาวะกดดันให้ตำรวจชั้นผู้น้อยบางคนกดดัน บางคนก็กดดันและนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พยายามมานะ เพื่อจะสอบสัญญาบัตรให้ได้เพื่อให้ได้กลับภูมิลำเนาของตน(รวมทั้งข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าจึงสนับสนุนการสอบสัญญาบัตรครั้งล่าสุดนี้ที่สุด(สอบเพื่อบรรจุตามภูมิลำเนาของตน) แต่ที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยคือ อัตราการสอบสัญญาบัตรและอัตราการสอบชั้นประทวนควรเท่าเทียมกัน คือ สอบเข้ากับสอบออกต้องสอดคล้องกัน  ไม่อย่างนั้นคงเกิดปัญหาขาดผู้ปฏิบัติ  ทุกวันนี้เร่งสอบสัญญาบัตรติดๆ กันมากมายแต่สอบชั้นประทวนเข้ามาสนง.ตร.แห่งชาติน้อยมาก  ต่อไปคงไม่มีผู้ปฏิบัติแล้ว  ก็เข้าใจว่าตำรวจบางคนอยากเป็นสัญญาบัตรมากเนื่องจากความกดดันต่างๆ ข้างต้น แต่การเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรต้องมาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบ ที่สำคัญคือต้องจ่ายภาษีสังคมสูงกว่าเดิม  เพื่อนตำรวจบางคนเกิดปัญหาครอบครัวเพราะเลื่อนเป็นชั้นสัญญาบัตร เพราะเป็นหัวหน้าต้องเลี้ยงข้าว ดูแลเอาใจใสลูกน้อง โดยเฉพาะตำรวจผู้ชาย ต้องเลี้ยงเหล้าเลี้ยงอาหารลูกน้องที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ เสี่ยงตาย ด้วยกัน  สิ่งเหล่านี้  ภาษีสังคม หากไปดูอัตราเงินเดือนที่ได้รับตอนที่สอบได้แล้วมันก็ไม่ได้ต่างกันมาก แถม ชั้นประทวนกับชั้นสัญญาบัตรยังเกษียณแล้วได้รับเงินเท่ากันอีก  แล้วภาษีสังคมเหล่านี้จะทำไง เห็นใหมว่าเป็นสัญญาบัตรน่ะโก้ก็จริงแต่ก็เป็นดาบสองคม ขนาดเพื่อนตำรวจคนนั้นมีภรรยาทำงาน อบต.ก็ยังเป็นหนี้หัวโต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น