วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

แอ่วสาว

 จริงๆแล้วเรื่องนี้ได้เขียนไว้แล้วตอนแปลเพลงของจรัล มโนเพชร ชื่อเพลง "แอ่วสาว" แต่อยากอธิบายเพิ่มเติมเพราะบทความนั้นยังอธิบายการแอ่วสาวไม่ละเอียดนัก แอ่วสาวภาษาเหนือดั้งเดิมหมายถึงการจีบสาวหรือการไปเที่ยวบ้านสาว ส่วนคำแสลงภาษาเหนือปัจจุบันจะแปลว่าไปซ่องเพื่อนอนกับสาว การแอ่วสาวไม่ใช่เป็นการจีบแบบปัจจุบัน คนเหนือสมัยก่อนมักจะไปจีบสาวเป็นกลุ่ม เดินทางผ่านถนนลูกรัง(สมัยก่อนไม่มีถนนลาดยาง) พร้อมกับกล่าวจ๊อยรือค่าวเพื่อความบันเทิง(หาอ่านได้ในเว็บนี้เรื่องดนตรีฯ) สมัยก่อนการจีบสาวของชาวเหนือมักจะอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ไม่มีการนัดพบกันแบบปัจจุบัน เพราะฝ่ายชายมักจะยกโขยงกันไปบ้านผู้หญิงแล้วนั่งผิงไฟและคุยกันระหว่างที่ผู้หญิงกำลังนั่งแยกเมล็ดถั่ว แกะกระเทียมฯลฯ เพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูก  สมัยก่อนไม่มีการซื้อเมล็ดพันธ์แบบปัจจุบัน แต่ชาวนาจะใช้วิธีแขวนพืชผลไว้ในบ้านให้แห้งแล้วจึงนำมาเพาะปลูกในปีถัดไป แม่เล่าให้ฟังว่าใช้วิธีติดต่อกันทางจดหมายดังนั้นก่อนกลับจึงมักจะฝากจดหมายรักให้ฝ่ายหญิงและถ้าฝ่ายหญิงมีใจก็จะเขียนจดหมายตอบกลับ love story ของแม่ค่อนข้างแปลกแต่ทำให้เห็นภาพของสมัยก่อนได้ดี แม่เล่าให้ฟังว่าพ่อเคยบวชเรียนมาก่อนจึงเรียกว่าหนานนำหน้าชื่อ เวลาไปจีบสาวจะแต่งตัวเรียบร้อยทันสมัยเอาเสื้อเข้าในกางเกงและใส่รองเท้าขัดมัน(ไปฟังเพลงของบุญศรี รัตนัง ศิลปินชาวเหนืออีกคนที่มีชื่อเสียง ชือเพลงลุงอดผ่อบ่ได้ จะเห็นภาพ) ซึ่งทำให้พ่อแม่ผู้หญิงชอบเพราะไปพร้อมกับของฝากให้พ่อแม่แต่ไม่ค่อยนั่งคุยแกะหอมหรือกระเทียมช่วยแม่แบบผู้ชายคนอื่นๆ ทำให้คู่แข่งหมั่นไส้ เอารองเท้าไปซ่อนหรือให้ไอ้ด่างแทะ ต่อมาจึงใช้วิธีเหนือชั้นกว่าวิธีจีบสาวแบบอื่นคือขึ้นไปชั้นสองห้องของแม่ระหว่างที่แม่นั่งผิงไฟคุยกับคนอื่นๆ แล้วเปิดหน้าต่างตะโกนออกมาทำให้เกิดการผิดผีเนื่องจากมีผู้ชาวเข้าไปในห้องนอนของผู้หญิง ตากับยายเลยให้แม่ตกร่องปล่องชิ้นกับพ่อหนานซะเลย ประกอบกับพ่อหนานมีชื่อเสียงเรื่องเวทย์มนต์คาถาเป็นจอมขมังเวทย์ที่ใครก็ครั่นคร้ามเพราะไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่วัดล่ามช้างตั้งแต่เด็กจนบวชเรียนที่นั่นแต่ชอบถ่ายรูปจึงต้องลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส แต่เพราะพ่อไม่อยากให้ลูกๆเรียนมนต์ดำพวกนี้ฉันและพี่ชายจึงไม่มีใครได้รับสืบทอดสักคน พ่อบอกว่าถ้าไม่เก่งมันจะเข้าตัว  เช่น การเสกให้คนหลงรักจนเป็นบ้าหรือเสียสติ(เรื่องนี้ท่าจะจริงเพราะสมัยก่อนมีญาติผู้หญิงคนหนึ่งโดนผู้ชายคนหนึ่งหลงรักแต่ไม่สมหวังแล้วทำของใส่จนสติแตกแก้ผ้าแก้ผ่อนไปเลยก็มี) สมัยก่อนมนต์พวกนี้ขลังมากแต่พ่อบอกว่าพอเขี้ยวหล่อนมนต์จะเสื่อมเพราะฟันร่วงท่องคาถาไม่ตรง) เรื่องความขมังเวทย์ของพ่อนี่น่าจะจริงเพราะจำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่งมีคนปลูกไผ่ตรงข้ามกับฝั่งแม่น้ำบ้านเราเพราะต้องการขยายที่(แต่ไม่คิดว่าจะมากินที่ฝั่งน้ำบ้านเราและทำให้คนที่มีบ้านแถบนี้เสียหาย) พ่อไปทำพิธีอะไรสักอย่างแล้วก็บอกฉันว่าคอยดูเถอะต่อไปที่ดินฝั่งนี้จะไม่มี หลายปีต่อมาที่ดินฝังนั้นก็ถูกน้ำพัดเสียหายลากเอาต้นไผ่ทั้งกอใหญ่ๆออกไปจนหมด จนถึงปัจจุบันนี้มีคนตั้งทำนบก็ยังอุส่าห์มีน้ำพัดเอาไปซัดฝังนั้นเสียหายไปทั้งแถบไม่เชื่อก็เหมือนต้องเชื่อ  ที่สวนหนองก๋ายของเราแกก็ของอะไรไว้ไม่รู้แต่แกบอกว่าถ้ามีคนขโมยของจะมีอันเป็นไป อาจไม่ทันทีแต่มีอันเป็นไปแน่นอน แกว่าอย่างนั้น  เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้แต่ฉันคิดว่าคงต้องเขียนเรื่องมนต์คาถาไว้เป็นการเฉพาะ แต่ที่แน่ๆ พ่อจีบแม่ด้วยวิธีการเอาใจพ่อแม่แล้วประกอบกับชื่อเสียง(หรือชื่อเสียก็ไมรู้) เรื่องคาถามนต์ดำทำให้ปู่กับย่ากลัวแม่โดนทำให้เป็นบ้าถ้าไม่ยอมแต่งกับพ่อ love story ของพ่อกับแม่ฉันเอวังด้วยประการฉะนี้แล  

สมัยก่อนนอกจากแม่แล้วยังมีเรื่องเล่าการจีบสาวตลกๆที่แม่เล่าให้ฟังจากความทรงจำอันสดใสของแม่ว่ามีชายคนหนึ่งไปแอ่วสาวพร้อมพวกแล้วกลับบ้านตนเองตอนดึกอารมณ์ค้างเพราะร้องรำทำเพลงกับเพื่อนที่ไปแอ่วสาวตลอดทาง จึงเดินกลับบ้านพร้อมกับร้องเพลงที่กำลังฮิตสมัยนั้นของ"ก้าน แก้วสุพรรณ" ชือเพลง "น้ำตาลก้นแก้ว" เนื้อร้องไม่เกี่ยวกับแม่เลยแต่พอเริ่มร้องแม่ท่อนแรก "แม่น้ำตาลก้นแก้ว........" แม่ที่กำลังนอนอยู่ได้ยินจึงตะโกนตอบกลับมาว่า"อย่ากินหมดเหลือให้น้องบ้างลูก" เป็นที่ขบขันของเพื่อนๆ แม่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนชาวบ้านสมัยนั้นยากจนมาก ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อของกินดีๆ บางคนก็กินข้าวกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อย แม่บอกว่าไม่มีขนมหรือของกินเล่นแบบสมัยนี้ เมล็ดข่อยก็กิน เมล็ดก่อมก็กิน ข่อยนี่ยังหาต้นได้แต่ก้อมนี่แม่บอกว่าสูญพันธ์ไปแล้ว 




ข่างน้ำ Inundation irrigation system/Flood irrigation system.

สมัยโบราณไม่มีท่อประปาแบบสมัยนี้ ความฉลาดของโบราณจึงใช้วิธีขุดร่องน้ำเพื่อผันน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตร เมื่อต้องการรดน้ำบริเวณใดก็จะขุดดินปิดปลายร่องน้ำอีกทางและปล่อยน้ำเข้าผ่านร่องน้ำอีกทางให้ท่วมพื้นที่นั้นๆ จนทั่ว โดยไม่ต้องใช้บัวรดน้ำหรือสปริงเกอร์แบบสมัยนี้ แต่ข้อเสียคือนอกจากพืชผลทางการเกษตรจะได้รับน้ำแล้ววัชพืชก็ได้รับน้ำด้วย ทำให้ต้องใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืชจำนวนมากไปด้วย แต่สมัยก่อนเป็นวิธีการทำเกษตรเพื่อใช้กินในครัวเรือนจึงไม่ต้องปลูกเพื่อขายจำนวนมากแบบในปัจจุบัน ดังนั้นการข่างน้ำจึงเป็นวิธีที่ประหยัดและรวดเร็ว แต่วิธีการนี้จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบันเนื่องจากน้ำหายากในฤดูแล้งและเป็นการปลูกเพื่อขายอีกทั้งคนไม่นิยมปลูกผักกินเอง ยกเว้นการทำนา ซึ่งปัจจุบันชาวนาในภาคเหนือยังมีการใช้วิธีการข่างน้ำอยู่เนื่องจากสะดวกรวดเร็วและประหยัดกว่าวิธีอื่นเพราะต้องใช้น้ำปริมาณมากในการหล่อเลี้ยงพื้นที่นา  ภาษาเหนือเรียกระบบการชลประทานแบบนี้ว่าการข่างน้ำ




ภาพจากสวนแม่ณี หนองก๋าย


วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สล่าอนุรักษณ์ รักษา(สล่าแม็ค)

 


 สล่าแม็กเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานทรงคุณค่าของพุทธศิลป์ชั้นนำในเชียงใหม่กว่า 20 ปี เป็นผู้ฟื้นฟูรูปแบบศิลปะล้านนาแบบเก่าในศาสนสถานของเชียงใหม่ให้กลับมาเป็นเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากที่สร้างผลงานปูนปั้นซึ่งประยุกต์จากลวดลายล้านนาโบราณที่วัดโลกโมฬีซึ่งเป็นวัดสำคัญในอำเภอเมืองเชียงใหม่  ภายหลังศาสนสถานในจังหวัดเชียงใหม่จึงมีผู้สร้างพุทธศิลป์ในรูปแบบล้านนาแบบเดิมมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดของผลงานและชิ้นงานของแต่ละวัดจะขอกล่าวไว้แยกเป็นวัดๆไป ผลงานของสล่าแม็กเท่าที่จะสามารถจัดสรรเวลารวบรวมข้อมูลได้มี ดังนี้

ผลงาน

1.วัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่

-วิหารไม้สัก

-ซุ้มประตู

2.วิหารวัดเชียงโฉม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

3.วิหารวัดสะดือเมือง(ข้างศาลากลางหลังเก่าใกล้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

4.วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่

-หออินทขิล

-วิหารหลวงปู่มั่น

                5.วัดชลประทานหัวฝาย อ.แม่ริม จว.เชียงใหม่

                        -อุโบสถ

                        -พลับพลาพระพี่นางเธอสุพรรณกัลยา

                        -พระพุทธรูปปูนปั้นปางเปิดโลกสูง 5 เมตร

            6.ซุ้มโขงวัดกฤษณาดอยขาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

7.เจดีย์ดอยสะพัญญู ซุ้มประตูโขง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

8.วัดขะแมด อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

9.ซุ้มพระเจ้าทันใจ วัดสันป่าตึง.แม่ริม เชียงใหม่

10.ศาลาป่าเส้า จ.ลำพูน  

11.ซุ้มประตูโขง หลังลานครูบาศรีวิชัย วัดศรีโสดา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

12.วัดพระธาตุปูแช่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

13.วัดขัวแคร่ อ.เมือง จ.เชียงราย                          

14 วัดฟูชุยแหย่น คุนหมิง ประเทศจีน

            15.งานศิลปะปูนปั้นสำหรับประดับตกแต่ง เช่น ช่อฟ้า ป้านลม คันทวย หูช้าง โคมไฟปูน นกสิงห์เมฆไหล

สล่า

 

สล่าภาษาเหนือแปลว่าช่าง ซึ่งในอดีตช่างพุทธศิลป์ล้านนามักจะถูกลืมเพราะการสร้างศาสนสถานนิยมไม่มีการบันทึกชื่อช่างไว้ทำให้ข้อมูลเหล่านี้สูญหายไปตามกาลเวลาเพราะงานศิลป์เหล่านี้ไม่ได้ถูกแสดงไว้ในแกลอรี่ ต่อจากนี้ไปข้าพเจ้าตั้งใจที่จะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เท่าที่จะสามารถจัดสรรเวลารวบรวมได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้ทำงานด้านนี้เป็นแต่เพียงผู้ที่ชื่นชอบงานพุทธศิลป์และคิดว่าข้อมูลนี้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสน์ เนื่องจากของใหม่วันนี้คือของเก่าในวันหน้า หากไม่มีผู้รวบรวมไว้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา

1.สล่าอนุรักษณ์ รักษา (สล่าแม็ก)


วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

หน้าบัน (tympanum ทิมพานั่ม)

คือส่วนด้านหน้าที่ปิดทับบริเวณโพรงใต้จั่วหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้แดดหรือฝนสาดเข้าไปภายในอาคาร ของไทยนิยมแกะสลักหรือปั้นปูนประดับตกแต่ง หน้าบันในหลายประเทศมักจะมีรูปแบบศิลปะเฉพาะของตัวเอง เช่น หน้าบันลักษณะสามเหลี่ยมที่อยู่บนทับหลังในประสาทหินขอม หรืออาคารที่เป็นตึกหรือโบสถ์ในสถาปัตยกรรมของตะวันตกก็นิยมทำหน้าบันเพื่อประดับอาคารเช่นกัน เหตุการณ์ที่ทำให้นึกอยากเขียนเรื่องหน้าบันคือแม่ไปทำบุญข้าวใหม่(ตานข้าวใหม่ในภาษาเหนือ) เป็นประเพณีที่ชาวนานิยมเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไปทำบุญถวายให้ผู้ล่วงลับก่อนจะนำไปบริโภค ประกอบกับแม่ฝันถึงหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วเราก็เลยมีโอกาสเดินทางไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน คือวัดชลประทาน(หัวฝาย) ข้าพเจ้าได้เล่าเจตนารมณ์ในการบันทึกเรื่องราวประวัติการจัดทำพุทธศิลป์ให้แก่ท่านเจ้าอาวาส ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าเป็นศิลปะที่สร้างอย่างสวยสดงดงามเพื่อถวายแด่พระพุทธศาสนาแต่กลับไม่ทราบชื่อศิลปินที่สร้างงานเหล่านั้น อีกทั้งช่าง(ภาษาเหนือเรียกว่าสล่า)บางคนได้สอดแทรกเอาความลึกซึ้งของหลักธรรมหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ในชิ้นงาน บางครั้งก็ยากจะตีความสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาด้านนี้โดยตรงอย่างข้าพเจ้า แต่ก็ตั้งใจจะเก็บรวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ต่อไปเนื่องจากยังไม่มีผู้จัดเก็บอย่างจริงจังและเรื่องราวเหล่านี้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา ท่านเจ้าอาวาสก็กรุณาให้ความรู้ว่าการทำหน้าบันนอกจากจะนิยมจารึกชื่อผู้บริจาคปัจจัยในการสร้างแล้วก็มักจะตกแต่งด้วยการใช้รูปนักษัตร(ตัวเปิ้ง)ของผู้บริจาคเงินหรือเจ้าอาวาส ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น ซึ่งได้ขอให้ท่านรวบรวมรายชื่อช่างที่สร้างพุทธศิลป์ต่างๆในวัดชลประทาน(หัวฝาย)และจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป ซึ่งขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างอุโบสถใหม่ ท่านได้แจ้งให้ทราบว่าส่วนบานประตูหน้าต่างจัดทำเป็นไม้แกะสลักลายเครือเถาดอกพิกุล บานประตูไม้แกะหลักเป็นรูปเทพพนม วันที่เดินทางไปบันทึกภาพก็ปรากฏว่าแสงสว่างก็ไม่พอเกรงว่าจะได้ภาพไม่สวยงาม หากมีโอกาสบันทึกภาพที่ชัดเจนจะได้นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ก๋างข่วง

เป็นภาษาเหนือหมายถึงลานบ้าน บ้านทางเหนือสมัยโบราณนิยมทำลานบ้านกว้างๆ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ลานบ้านมักเป็นดิน มีพื้นที่ค่อนข้างเป็นทรงกลม ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วงหรือลำไย ข่วงประตูท่าแพคงหมายถึงลานกว้างๆบริเวณประตูท่าแพซึ่งไว้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ บ้านในความทรงจำของฉันสมัยก่อนเมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีรั้ว เดินไปมาหาสู่กันระหว่างเพื่อนบ้านอย่างสะดวก แต่ละบ้านจะมีก๋างข่วงหน้าบ้านเป็นของตัวเอง สมัยก่อนแม้แต่ทางที่ใช้สัญจรไปมายังเป็นทางลูกรังอยู่เลย จำได้ว่าฉันเดินทางไปเรียนที่ตัวอำเภอด้วยตนเอง นั่งรถสองแถวไปผ่านทางลูกรังที่ฝนตกทางพังจนรถพลิกคว่ำและฉันต้องไปทั้งที่ชุดนักเรียนเปื้อนโคลนไปหมด เดินคนเดียวตั้งแต่เล็กจนโต ก็ยังชอบเดิน การเดินทำให้จดจำเส้นทางและสถานที่ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะอย่างอื่น ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ เพราะคนที่รู้จักฉันยังคงจำภาพลักษณ์ของการถอดรองเท้าเดินอย่างไม่สนใจใครได้ดีจนถึงทุกวันนี้

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กล้วยกลัวผี หรือกล้วยหอมเขียว คาเวนดิช (Cavendish)

สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่ใช่คนชื่อกล้วยแล้วกลัวผี แต่เป็นชื่อกล้วยชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กแค่เอวหรือหัว พอเป็นเครือก็จะติดกับพื้นดิน มักชอบอยู่บริเวณน้ำเฉอะแฉะ พื้นที่ใกล้ครัวที่มีการซักล้าง หากย้ายไปปลูกที่ไกลบ้านหรือที่โล่งแจ้งมักจะไม่เจริญเติบโตได้ดีแบบที่เอามาปลูกใกล้บ้าน อาจด้วยเพราะเป็นกล้วยที่ชอบอยู่กับคนเขาจึงเรียกชื่อกล้วยชนิดนี้ว่ากล้วยกลัวผี แม่เล่าให้ฟังว่ากล้วยกลัวผีมีลักษณะเหมือนกล้วยทุกอย่างเพียงแต่ลำต้นเตี้ยเท่านั้น เพื่อนบ้านของเรามี ฉันจึงว่าจะไปขอพันธ์ูกล้วยชนิดนี้มาปลูกเป็นเพื่อนคนกลัวผีสักหน่อย ทั้งคนและกล้วยก็กลัวผีเหมือนกันค่ะ จะได้ช่วยเหลือกัน และหวังว่าเวลาเห็นผีกล้วยจะไม่ถอนรากออกและเผ่นหนีไปเสียก่อน กล้วยหอมปกติเวลาสุกจะออกสีเหลืองเหมือนกล้วยทั่วไปแต่กล้วยกลัวผีหรือกล้วยหอมเขียวจะไม่เป็นสีเหลือง ข้าพเจ้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่าชื่อกล้วยหอมเขียวหรือคาเวนดิชในชื่อภาษาอังกฤษ เห็นคนเริ่มนำเอามาปลูกและในต่างประเทศก็เป็นที่นิยมจึงไม่น่าจะสูญพันธ์อย่างที่กังวล เนื่องจากเพื่อนบ้านย้ายจุดซักล้างกล้วยกลัวผีของเราจึงค่อนข้างโดดเดี่ยวและขาดน้ำ หวีเล็กกว่าปกติ เพื่อนบ้านเพิ่งรู้ว่าสมัยก่อนเขาเรียกว่ากล้วยกลัวผีเลยบอกว่าเดี๋ยวตกใจไม่กล้าเดินผ่านบริเวณนั้น ขอพันธ์ุเขาไว้แล้วเพราะว่าแถวนี้น่าจะเหลือเพียงต้นเดียวแล้ว ว่าจะปลูกเอาไว้เป็นเพื่อนหน่อยค่ะ