วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

หน้าบัน (tympanum ทิมพานั่ม)

คือส่วนด้านหน้าที่ปิดทับบริเวณโพรงใต้จั่วหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้แดดหรือฝนสาดเข้าไปภายในอาคาร ของไทยนิยมแกะสลักหรือปั้นปูนประดับตกแต่ง หน้าบันในหลายประเทศมักจะมีรูปแบบศิลปะเฉพาะของตัวเอง เช่น หน้าบันลักษณะสามเหลี่ยมที่อยู่บนทับหลังในประสาทหินขอม หรืออาคารที่เป็นตึกหรือโบสถ์ในสถาปัตยกรรมของตะวันตกก็นิยมทำหน้าบันเพื่อประดับอาคารเช่นกัน เหตุการณ์ที่ทำให้นึกอยากเขียนเรื่องหน้าบันคือแม่ไปทำบุญข้าวใหม่(ตานข้าวใหม่ในภาษาเหนือ) เป็นประเพณีที่ชาวนานิยมเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไปทำบุญถวายให้ผู้ล่วงลับก่อนจะนำไปบริโภค ประกอบกับแม่ฝันถึงหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วเราก็เลยมีโอกาสเดินทางไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน คือวัดชลประทาน(หัวฝาย) ข้าพเจ้าได้เล่าเจตนารมณ์ในการบันทึกเรื่องราวประวัติการจัดทำพุทธศิลป์ให้แก่ท่านเจ้าอาวาส ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าเป็นศิลปะที่สร้างอย่างสวยสดงดงามเพื่อถวายแด่พระพุทธศาสนาแต่กลับไม่ทราบชื่อศิลปินที่สร้างงานเหล่านั้น อีกทั้งช่าง(ภาษาเหนือเรียกว่าสล่า)บางคนได้สอดแทรกเอาความลึกซึ้งของหลักธรรมหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ในชิ้นงาน บางครั้งก็ยากจะตีความสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาด้านนี้โดยตรงอย่างข้าพเจ้า แต่ก็ตั้งใจจะเก็บรวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ต่อไปเนื่องจากยังไม่มีผู้จัดเก็บอย่างจริงจังและเรื่องราวเหล่านี้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา ท่านเจ้าอาวาสก็กรุณาให้ความรู้ว่าการทำหน้าบันนอกจากจะนิยมจารึกชื่อผู้บริจาคปัจจัยในการสร้างแล้วก็มักจะตกแต่งด้วยการใช้รูปนักษัตร(ตัวเปิ้ง)ของผู้บริจาคเงินหรือเจ้าอาวาส ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น ซึ่งได้ขอให้ท่านรวบรวมรายชื่อช่างที่สร้างพุทธศิลป์ต่างๆในวัดชลประทาน(หัวฝาย)และจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป ซึ่งขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างอุโบสถใหม่ ท่านได้แจ้งให้ทราบว่าส่วนบานประตูหน้าต่างจัดทำเป็นไม้แกะสลักลายเครือเถาดอกพิกุล บานประตูไม้แกะหลักเป็นรูปเทพพนม วันที่เดินทางไปบันทึกภาพก็ปรากฏว่าแสงสว่างก็ไม่พอเกรงว่าจะได้ภาพไม่สวยงาม หากมีโอกาสบันทึกภาพที่ชัดเจนจะได้นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น